รูปแบบการจับรางวัลชิงโชค สามารถทำได้ 2 วิธี
- จับจากชิ้นส่วนของสินค้า บัตรสมนาคุณ บัตรอื่นๆ
- พิมพ์ข้อมูลของผู้เล่นลงบนชิ้นส่วนสลาก โดยระบุชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ แล้วนำมาจับรางวัล
ข้อกฏหมายการจับรางวัล / จับสลากหาผู้โชคดีที่ควรรู้
1. กฎหมายระบุให้ดำเนินการด้วยวิธีจับสลากเท่านั้น จะดำเนินการด้วยวิธีอื่นเช่น Random ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้
2. ห้ามมิให้จ่ายหรือรับเงินแทนสิ่งของรางวัล ตามลักษณะข้อจำกัดและเงื่อนไขหลังใบอนุญาตฯ เช่น เงินสด บัญชีเงินฝาก เช็ค เป็นต้น
3. ผู้จัดกิจกรรมต้องแจ้งหรือ แสดงข้อความเลขที่ใบอนุญาต สถานที่ออกใบอนุญาต ให้กับผู้เล่นทราบ ก่อนจัดให้มีการเล่นทุกครั้ง
4. ผู้ได้รับรางวัลมูลค่า 1,000 บาทขึ้นไป ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าของรางวัลที่ได้รับ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ประกอบ ท.ป.104/2544
การจัดให้มีแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค
โดยวิธีใดๆในการประกอบกิจการการค้าหรืออาชีพ
คือ การจัดชิงโชคในทางการค้า ซึ่งเป็นการจัดรายการส่งเสริมการขายโดยนำวิธีการเสี่ยงโชคเข้ามาเป็นกิจกรรมหลักเพื่อให้ลูกค้าได้ร่วมสนุกและร่วมลุ้นรางวัล
การจัดให้มีการแถมพก เป็นการเล่นเดียวที่ไม่ถือว่าเป็นการพนัน เพราะผู้เล่นมิได้อยู่ในฐานะเสี่ยงต่อการได้หรือเสียประโยชน์ ในทางกลับกันผู้เล่นมีแต่ได้ไม่มีเสีย กล่าวคือเมื่อผู้เล่นซื้อสินค้าไป ก็ได้สินค้าไปบริโภค ส่วนโชคเป็นของแถมตามมา ถ้าได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ที่ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายการพนัน เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
1 เป็นการเล่นที่มีลักษณะมอมเมาไม่แตกต่างจากการพนัน และสินค้าบางประเภทผู้บริโภคคือเด็ก ซึ่งยังขาดวิจารณญาณ
2 เพื่อป้องกันมิให้นำวิธีการเล่นการพนันมาใช้ในการส่งเสริมการขาย
3 รัฐจำเป็นต้องควบคุมเพื่อให้การเล่นมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้เข้าร่วมกิจกรรม
บทกำหนดโทษกรณีปฏิบัติไม่ถูกต้อง
1 ผู้ใดจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
2 และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
รูปแบบการเล่นที่ต้องห้าม
1.ลุ้นรับของรางวัล
การลุ้นรับของรางวัล จากเลขท้ายใบเสร็จ โดยอ้างอิงจากผลประกาศ รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล
2.เล่นลักษณะ Top Spender
ผู้ที่มียอดซื้อสูงสุด โดยผู้เล่นแต่ละคนไม่ทราบผลของกันและกันและไม่ทราบว่าตนอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่
3.ลุ้นโชคของรางวัล
จากการซื้อบัตรเข้าชมมวย
ได้ลุ้นรางวัลจากหางบัตรที่ซื้อ
เพื่อเข้าชมการแข่งขันชกมวย
4.หมุนวงล้อออกรางวัล
เนื่องจากเป็นการพนัน
5.เล่นตามบัญชี
เล่นโดยใช้วิธีการเล่นตามบัญชี ก., บัญชี ข. หรือการเล่นอื่นๆ เช่น
โยนห่วง สอยดาว ฯลฯ
1.ลุ้นรับของรางวัล
การลุ้นรับของรางวัล จากเลขท้ายใบเสร็จ โดยอ้างอิงจากผลประกาศ รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล
2.เล่นลักษณะ Top Spender
ผู้ที่มียอดซื้อสูงสุด โดยผู้เล่นแต่ละคนไม่ทราบผลของกันและกันและไม่ทราบว่าตนอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่
3.ลุ้นโชคของรางวัล
จากการซื้อบัตรเข้าชมมวย
ได้ลุ้นรางวัลจากหางบัตรที่ซื้อ เพื่อเข้าชมการแข่งขันชกมวย
4.หมุนวงล้อออกรางวัล
เนื่องจากเป็นการพนัน
5.เล่นตามบัญชี
เล่นโดยใช้วิธีการเล่นตามบัญชี ก. ,บัญชี ข. หรือการเล่นอื่นๆ เช่น โยนห่วง สอยดาว ฯลฯ
รวมย่อคำพิพากษาศาลฎีกา “คดีการพนัน”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2535
อาญา รอการลงโทษ (มาตรา 56)
พ.ร.บ. การพนันฯ
การพนันป๊อกเป็นการพนันประเภทห้ามขาด การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นและมีผู้เข้าร่วมเล่นถึง 22 คน นับว่าเป็นการพนันรายใหญ่ ผู้เล่นล้วนแต่มีอาชีพรับจ้าง ทำไร่ ทำนา แทนที่จะประกอบอาชีพโดยสุจริตกลับมั่วสุมเล่นการพนันอันเป็นสิ่งมอมเมาและเป็นอบายมุขที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2535
อาญา รอการลงโทษ (มาตรา 56)
พ.ร.บ. การพนันฯ
จำเลยเป็นเจ้ามือการพนันสลากกินรวบ ของกลางที่จับได้มีโพยสลากกินรวบถึง 31 แผ่น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินเท่าไร และไม่ได้เงินสดเป็นของกลาง แต่ก็ได้ปากกาสีแดง 7 ด้าม ปากกาสีน้ำเงิน 5 ด้าม เป็นของกลาง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเล่นการพนันสลากกินรวบที่เป็นรายใหญ่ ไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787-788/2540
วิธีพิจารณาความอาญา บรรยายฟ้อง (มาตรา 158 (5))
พ.ร.บ. การพนันฯ (มาตรา 4, 12)
ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพ.ร.บ. การพนันฯ ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว โดยให้ยกเลิกข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2504) และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) และให้เพิ่มเติมการเล่นต่อไปนี้เป็นการเล่นในบัญชี ข. ท้าย พ.ร.บ. การพนันฯ 1 สะบ้าทอย ฯลฯ…4 เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่างหรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่นโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้มหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น โดยผลของกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) เครื่องเล่นตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ในบัญชี ข. อันดับที่ 28 จึงมีองค์ประกอบแตกต่างจากที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) และกฎกระทรวงฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2504) โดยได้บัญญัติเพิ่มเติมลักษณะของเครื่องเล่นดังกล่าวมีสาระสำคัญว่าต้องเป็นเครื่องเล่นซึ่งสามารทำให้แพ้ชนะกันได้ และต้องมีวิธีการใช้เครื่องเล่นดังกล่าวโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ และโจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงลักษณะของเครื่องเล่นดังกล่าวอันถือเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาและในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องมาให้ครบถ้วนด้วย เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เครื่องเล่นดังกล่าวมีวิธีการใช้อย่างไร และสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้หรือไม่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองเข้าใจฟ้องดีก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2540
อาญา รอการลงโทษ (มาตรา 56)
พ.ร.บ. การพนันฯ (มาตรา 5, 6, 10, 12, 15)
การพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศเป็นการพนันที่มอมเมาประชาชน เป็นอบายมุขที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ รัฐบาลมีนโยบายที่จะปราบปรามมิให้มีการเล่นหรือให้ลดลง จำเลยเป็นเจ้ามือรายใหญ่มีโพยทายผลของกลาง 4 แผ่น มีเงินที่รับแทงพนันมากถึง 27 ล้านบาท พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2542
อาญา ริบทรัพย์สิน (มาตรา 33)
พ.ร.บ. การพนันฯ (มาตรา 4, 5, 10, 12, 15)
เครื่องรับโทรทัศน์สีของกลางเป็นเพียงเครื่องมือและอุปกรณ์รับภาพการแข่งขันชกมวยจากสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ส่งภาพดังกล่าวมาเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้ชมท้าพนันผลการแข่งขันชกมวย หาทำให้เครื่องรับโทรทัศน์สีดังกล่าวเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นการพนันชกมวยตามความหมายแห่งพ.ร.บ. การพนันฯ โดยแท้จริงไม่ และแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพกรณีของกลางตามฟ้อง แต่เมื่อปรากฎว่าตามสภาพของเครื่องรับโทรทัศน์ของกลางนั้นมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นพนันชกมวยแล้ว เครื่องรับโทรทัศน์สีของกลางจึงไม่ใช่เป็นทรัพย์สินอันจะพึงริบตาม ป.อ.มาตรา 33
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4972/2542
อาญา ขอคืนของกลาง (มาตรา 36)
ผู้ร้องคงมีแต่ ฟ. กรรมการบริษัทผู้ร้องเป็นพยานเบิกความลอยๆ ว่า บริษัทผู้ร้องเป็นเจ้าของตู้ปาเป้าไฟฟ้าซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ทั้งพยานเอกสารที่ผู้ร้องอ้างเป็นภาษาต่างประเทศก็ไม่มีคำแปลภาษาไทยไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของตู้ปาเป้าของกลาง นอกจากนั้นการที่ผู้ร้องมอบให้ ส. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งตู้ปาเป้าก็ขึ้นอยู่กับ ส. ว่าจะนำไปติดตั้งที่ใดก็ได้ ผู้ร้องไม่สนใจขอเพียงได้รับเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท เท่านั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5625/2557
การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติข้อห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากเกินราคาที่กำหนดในสลากไว้ถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 9 ทวิ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ตรี ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 ให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท จำเลยทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับโจทก์ โดยโจทก์ตกลงขายสลากให้แก่จำเลยในราคาฉบับละ 90 บาท หรือส่วนละ 45 บาท แต่ราคาในสลากระบุไว้เพียงฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกินราคาดังกล่าว จึงเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นและตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์และจำเลยจะสมัครใจซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกันในราคาสูงกว่าที่กำหนดในสลาก เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามมิให้ขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีการขายสลากเกินราคากันอย่างแพร่หลายก็ตาม ก็หาเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นการอันไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ แต่อย่างไรก็ดี สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวรวมส่วนที่ขายตามราคาที่กำหนดไว้ในสลากซึ่งไม่เป็นโมฆะอยู่ด้วยและสามารถแยกแยะจำนวนเงินของส่วนที่ขายเกินราคาออกได้แน่ชัด พฤติการณ์แห่งกรณีที่จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมากไปจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายในทางการค้า ย่อมมีส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการขายเกินราคาในสลากดังกล่าวอันพึงสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสลากในส่วนที่ไม่เกินราคาจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2550
พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 บัญญัติว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณา หรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง…ผู้นั้นมีความผิด…” ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านและร่วมเล่นด้วย โดยมิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่น ถือได้ว่าคำฟ้องขอโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2549
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม คือ จำเลยเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 16 ท้าย พ.ร.บ.การพนันฯ โดยถือเอาเลขท้ายสามตัวรางวัลที่หนึ่งของสลากกินแบ่งรัฐบาลไทยประจำงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2547 และถือเอาเลขท้ายสองตัวของดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปิดในวันที่ 18 มิถุนายน 2547 เป็นเกณฑ์ในการแพ้ชนะกัน โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ แสดงว่า ในขณะการะทำความผิดฐานเล่นการพนันสลากินรวบของจำเลยแต่ละกรรมดังกล่าว ผู้เล่นได้ถือเอาผลของเลขท้ายสามตัวรางวัลที่หนึ่งของสลากกินแบ่งรัฐบาลไทยในงวดที่ทราบผลมาแล้ว และถือเอาดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะที่เล่นการพนันประเภทนี้ในเวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา ก็ทราบผลแล้วเช่นกัน มาเป็นเกณฑ์ในการแพ้ชนะในการเล่นการพนัน คำฟ้องดังกล่าวนี้ย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดฐานเล่นการพนันอันจะต้องเป็นการเสี่งโชคและอาศัยผลที่ยังไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกัน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 ไม่อาจพิพากษาลง โทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2549
การเล่นการพนันทายผลฟุตบอลเป็นการเล่นอื่นใดนอกจากที่กล่าวใน พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 4 ซึ่งจะพนันกันหรือจะจัดให้มีเพื่อให้พนันกันได้เฉพาะการเล่นที่ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 4 ทวิ เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7711/2544
การเล่นที่เสี่ยงโชคให้เงินแก่ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งตามบัญชี ข. อันดับที่ 16 ตาม พ.ร.บ.การพนันฯ ต้องมีลักษณะคล้ายกับการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบด้วย แต่การพนันทายฟุตบอลไม่มีลักษณะคล้ายกับการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตามการพนันทายฟุตบอลเป็นการเล่นอื่นใดนอกจากที่กล่าวในมาตรา 4 จะพนันกันหรือจะจัดให้มีเพื่อให้พนันกันได้เฉพาะการเล่นที่ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งมาตรา 4 ทวิ วรรคสอง ให้ความหมายคำว่า “การเล่น” หมายความรวมตลอดถึงการทายและการทำนายด้วย การเล่นพนันดังกล่าวต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยเล่นกาพนันทายผลฟุตบอลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 4 ทวิ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้